สภาพลเมืองเกิดขึ้นได้อย่างไร
“สภาพลเมือง จ.เชียงใหม่”
“สภาพลเมือง จ.เชียงใหม่” เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2556 เปิดพื้นที่กลางให้ทุกคนที่มีประเด็นสาธารณะที่ต้องการหารือและขับเคลื่อนในวงกว้างมาพูดคุยระดมความคิดเห็น เป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ บนหลักการประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พัฒนานโยบายสาธารณะ ทางการเมือง การปกครอง โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันเป็นกองเลขานุการ
เพื่อเอื้ออำนวยการจัดประชุมสภาในแต่ละครั้ง มีการพัฒนารูปแบบวิธีการไปตามสถานการณ์
จัดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนั้น ๆ แลกเปลี่ยนสถานการณ์ตามประเด็นต่าง ๆ ในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
การปกครอง สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การวางแผนหรือหาทางออกให้กับ
ผู้ขอเปิดสภาฯ ในฐานะเจ้าของประเด็นนำไปพิจารณา รวมถึงให้หน่วยงานภาครัฐ ส่วนปกครองท้องถิ่น
ได้นำแนวทางข้อเสนอที่เกิดขึ้นไปสู่ปฏิบัติการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหา หรือปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ
ที่จะไปทำงานกับกลุ่มที่ประสบปัญหา กลุ่มเปราะบางรวมถึงคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิและกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม รวมถึงการผลักดันในระดับนโยบาย
"จุดเด่นของสภาพลเมือง"
คือเป็นพื้นที่ที่สามารถที่จะนำเสนอปัญหาและข้อเสนอหรือปรากฎการณ์บางอย่าง หรือความต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างต่อสาธารณะชน โดยที่สภาพลเมืองเป็นเหมือนกับเวทีที่ให้หลาย ๆ ฝ่ายมาเจอกัน แล้วถ่ายทอดเรื่องราวออกไป แม้ในบางเวทีจะไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ว่ากระบวนการให้คนเสนอประเด็น(ผู้ขอเปิดสภา) คนเสนอข้อมูล(หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ-ภาควิชาการ) คนแสดงความคิดเห็น และมีสื่อร่วมเผยแพร่ข้อมูล และการเชิญคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมในเวที ทำให้สามารถสะท้อนภาพข้อมูลที่หลากหลายมิติออกไปให้สาธารณะชนได้รู้ ที่สำคัญคือสภาพลเมืองมีความเป็นอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้องค์กร หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยเฉพาะของรัฐทำให้เป็นพื้นที่กลางที่ปลอดภัย และหลายฝ่ายให้ความเชื่อมั่น
ไว้วางใจที่จะเข้ามาใช้เวทีสภาพลเมืองในการนำเสนอประเด็นปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเด็นต่าง ๆ
สภาพลเมืองเป็นรูปแบบวิธีการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตัดสินใจในเชิงนโยบายสาธารณะหรือเรื่องส่วนรวมของสังคมร่วมกับตัวแทนผู้ใช้อำนาจรัฐ โดยทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันด้วยเหตุผล ที่ทุกฝ่ายยอมรับและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เหมาะสมให้มากที่สุด และตอบอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ...”
สรุปการประเมินผลสภาพลเมือง 2563-2564